ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่น

สาระน่ารู้

ประกาศกระทรวงมหาดไทย

เรื่อง ความปลอดภัยในการทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่น

อาศัยอํานาจตามความในข้อ 2 (7) และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 

กระทรวงมหาดไทยจึงกําหนดสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยสํ าหรับลูกจ้างไว้ดังต่อไปนี้


ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่น”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ข้อ 3 ประกาศนี้มิให้ใช้บังคับแก่

(1) ราชการส่วนกลาง

(2) ราชการส่วนภูมิภาค

(3) ราชการส่วนท้องถิ่น

(4) กิจการอื่นตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้ประกาศกําหนด

ข้อ 4 ในประกาศนี้ 
“นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทํางานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทํางานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล หมายความว่าผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึง ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทํางานแทนผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคล

“ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทํางานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างไม่ว่าจะเป็นผู้รับค่าจ้างด้วยตนเอง หรือไม่ก็ตามและหมายความรวมถึงลูกจ้างประจําและลูกจ้างชั่วคราวแต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทํางานเกี่ยวกับงานบ้าน

“ปั้นจั่น” (Cranes หรือ Derricks) หมายความว่า เครื่องจักรกลที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่งและเคลื่อนย้ายสิ่งของเหล่านั้นในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ

“ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่” หมายความว่า ปั้นจั่นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมและเครื่องต้นกําลังอยู่ในตัวซึ่งติดตั้งอยู่บนหอสูง ขาตั้ง หรือบนล้อเลื่อน

“ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่” หมายความว่า ปั้นจั่นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมและเครื่องต้นกําลังอยู่ในตัวซึ่งติดตั้งอยู่บนยานที่ขับเคลื่อนในตัวเอง

“ลวดวิ่ง” หมายความว่า เชือกลวดเหล็กกล้าที่เคลื่อนที่ในขณะปั้นจั่นทํางาน

“ลวดโยงยึด” หมายความว่า เชือกลวดเหล็กกล้าที่ยึดส่วนใดส่วนหนึ่งของปั้นจั่นให้มั่นคง

“ผู้บังคับปั้นจั่น” หมายความว่า ผู้ทํ าหน้าที่บังคับการทํางานของปั้นจั่น

“วิศวกร” หมายความว่า วิศวกรซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมกําหนดตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม

“ส่วนความปลอดภัย” หมายความว่า อัตราส่วนระหว่างแรงดึงที่เชือกลวดเหล็กกล้ารับได้สูงสุดต่อแรงดึงที่เชือกลวดเหล็กกล้ารับอยู่จริง


หมวด 1

ข้อกําหนดทั่วไป

ข้อ 5 ให้นายจ้างที่ใช้ปั้นจั่นปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะของปั้นจั่น และคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตปั้นจั่นกําหนดไว้ในการประกอบการทดสอบ การซ่อมบํารุง และการตรวจสอบปั้นจั่นให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานตามวรรคหนึ่งด้วย ในกรณีที่มีอุปกรณ์อื่นใช้กับปั้นจั่น ห้ามมิให้นายจ้างใช้อุปกรณ์นั้นเกินหรือไม่ถูกต้องตามรายละเอียดคุณลักษณะตามวรรคหนึ่ง ถ้าไม่มีรายละเอียดคุณลักษณะหรือคู่มือการใช้งาน หรือผู้ผลิตปั้นจั่นมิได้กําหนดไว้ให้นายจ้างปฏิบัติตาม รายละเอียดคุณลักษณะที่วิศวกรได้กําหนดขึ้นเป็นหนังสือ

ข้อ 6 ให้นายจ้างติดป้ายบอกพิกัดนํ้าหนักยกไว้ที่ปั้นจั่น ปิดคําเตือนให้ระวังอันตรายและติดตั้งสัญญาณเตือนอันตรายให้ผู้บังคับปั้นจั่นเห็นได้ชัดเจน

ข้อ 7 ในการทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่นให้นายจ้างจัดให้มีการให้สัญญาณการใช้ปั้นจั่นที่เข้าใจในระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ในกรณีที่การใช้สัญญาณตามวรรคหนึ่งเป็นการใช้สัญญาณมือ ให้นายจ้างจัดให้มีรูปภาพหรือคู่มือการใช้สัญญาณมือตามที่กําหนดไว้ท้ายประกาศนี้ติดไว้ที่ปั้นจั่นและบริเวณที่ทํางาน

ข้อ 8 ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุก ๆ สามเดือน ตามแบบที่กรมแรงงานกําหนดให้นายจ้างบันทึกเวลาที่ตรวจสอบและผลการตรวจสอบ โดยมีวิศวกรเป็นผู้รับรองไว้เป็นหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ในระหว่างเวลาทํางาน

ข้อ 9 ในการทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่น ห้ามมิให้นายจ้างใช้เชือกลวดเหล็กที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) ลวดวิ่งที่มีเส้นลวดในหนึ่งช่วงเกลียว ขาดตั้งแต่สามเส้นขึ้นไปในเกลียวเดียวกัน หรือขาดตั้งแต่หกเส้นขึ้นไปในหลายเกลียวรวมกัน

(2) ลวดโยงยึดที่มีเส้นลวดในหนึ่งช่วงเกลียวขาดตั้งแต่สองเส้นขึ้นไป

(3) ลวดเส้นนอกสึกไปหนึ่งในสามของเส้นผ่าศูนย์กลาง

(4) ลวดวิ่งหรือลวดโยงยึดที่ขมวด ถูกบดกระแทก แตกเกลียวหรือชํารุด ซึ่งเป็นเหตุให้การรับนํ้าหนักของเชือกลวดเหล็กกล้าเสียไป

(5) เส้นผ่าศูนย์กลาง มีขนาดเล็กลงเกินร้อยละห้าของเส้นผ่าศูนย์กลางเดิม

(6) ถูกความร้อนทําลายหรือเป็นสนิมมากจนเห็นได้ชัดเจน

ข้อ 10 ห้ามมิให้นายจ้างใช้รอก ในการทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่นที่มีอัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของรอกหรือล้อใดๆ กับเส้นผ่านศูนย์กลางของเชือกลวดเหล็กกล้าที่พันอยู่น้อยกว่ามาตรฐานที่กําหนดดังต่อไปนี้

18 ต่อ 1 สําหรับรอกปลายแขนปั้นจั่น

16 ต่อ 1 สําหรับรอกของตะขอ

15 ต่อ 1 สําหรับรอกหลังแขนปั้นจั่น

ข้อ 11 ในขณะทํางาน ให้นายจ้างจัดให้มีการควบคุมให้มีเชือกลวดเหล็กกล้าเหลืออยู่ในที่ม้วนเชือกลวดไม่น้อยกว่าสองรอบเชือกลวดเหล็กกล้าที่ใช้ ต้องมีส่วนความปลอดภัยดังนี้

(1) เชือกลวดเหล็กกล้าที่เป็นลวดวิ่ง ไม่น้อยกว่า 6

(2) เชือกลวดเหล็กกล้าที่เป็นลวดโยงยึด ไม่น้อยกว่า 3.5

ข้อ 12 ให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งครอบปิดส่วนที่หมุนรอบตัวเอง หรือส่วนที่เคลื่อนไหวได้ของเครื่องจักรเพื่อให้ลูกจ้างทํางานด้วยความปลอดภัย

ข้อ 13 ให้นายจ้างจัดทําเครื่องหมายแสดงเขตอันตรายหรือเครื่องกั้นเขตอันตรายในรัศมีส่วนรอบของปั้นจั่นที่หมุนกวาดระหว่างทํางานเพื่อเตือนลูกจ้างให้ระวังอันตรายอันอาจเกิดขึ้นในรัศมีของส่วนที่หมุนได้

ข้อ 14 ปั้นจั่นที่มีความสูงเกินสามเมตร ให้นายจ้างจัดให้มีบันไดพร้อมราวจับและโครงโลหะกันตกให้แก่ลูกจ้างที่ทํางาน

ข้อ 15 ให้นายจ้างจัดทําพื้นและทางเดินบนปั้นจั่นชนิดกันลื่น

ข้อ 16 ให้นายจ้างติดตั้งเครื่องดับเพลิงชนิดที่เหมาะสมและใช้การได้ที่ห้องบังคับปั้นจั่น

ข้อ 17 ให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งครอบปิดหรือฉนวนหุ้มท่อไอเสียของปั้นจั่นเพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดจากความร้อนของท่อไอเสีย

ข้อ 18 ปั้นจั่นที่ใช้เครื่องยนต์ นายจ้างต้องจัดให้มีถังเก็บเชื้อเพลิงและท่อส่งเชื้อเพลิงติดตั้งอยู่ในลักษณะที่จะไม่เกิดอันตรายเมื่อเชื้อเพลิงหก ล้น หรือรั่วออกมา

ข้อ 19 ให้นายจ้างเก็บและเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิงที่ใช้กับปั้นจั่นด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดอันตรายได้

ข้อ 20 เมื่อมีการใช้ปั้นจั่นใกล้สายไฟฟ้า ให้นายจ้างปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(1) ถ้าสายไฟฟ้ามีแรงดันไฟฟ้าไม่เกินห้าสิบกิโลโวลท์ ให้ระยะห่างระหว่างสายไฟฟ้านั้นกับส่วนหนึ่งส่วนใดของปั้นจั่น หรือกับส่วนหนึ่งส่วนใดของวัสดุที่ปั้นจั่นกําลังยกอยู่ต้องไม่น้อยกว่าสามเมตร

(2) ถ้าสายไฟฟ้ามีแรงดันไฟฟ้าเกินห้าสิบกิโลโวลท์ ให้ระยะห่างระหว่างสายไฟฟ้านั้นกับส่วนหนึ่งส่วนใดของปั้นจั่น หรือกับส่วนหนึ่งส่วนใดของวัสดุที่ปั้นจั่นกําลังยกอยู่เพิ่มขึ้นจากระยะห่างตาม (1) อีกหนึ่งเซ็นติเมตร สําหรับแรงดันไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นหนึ่งกิโลโวลท์

(3) ในกรณีที่ปั้นจั่นเคลื่อนที่โดยไม่ยกวัสดุและไม่ลดแขนปั้นจั่นลง ให้ระยะห่างระหว่างส่วนหนึ่งส่วนใดของปั้นจั่นกับสายไฟฟ้าเป็น ดังนี้

(ก) สําหรับสายไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เกินห้าสิบกิโลโวลท์ไม่น้อยกว่าหนึ่งเมตรยี่สิบห้าเซนติเมตร

(ข) สําหรับสายไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าเกินห้าสิบกิโลโวลท์แต่ไม่เกินสามร้อยสี่สิบห้ากิโลโวลท์ไม่น้อยกว่าสามเมตร

(ค) สําหรับสายไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าเกินสามร้อยสี่สิบห้ากิโลโวลท์ แต่ไม่เกินเจ็ดร้อยห้าสิบกิโลโวลท์ ไม่น้อยกว่าห้าเมตร

ข้อ 21 ถ้าปั้นจั่นหรือวัสดุที่จะยกตั้งอยู่ใกล้เสาส่งคลื่นโทรคมนาคมก่อนใช้ปั้นจั่นให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจตัวปั้นจั่นและวัสดุนั้นว่าเกิดประจุไฟฟ้าเหนี่ยวนําหรือไม่ ถ้าพบว่ามีประจุไฟฟ้าเหนี่ยวนําที่ตัวปั้นจั่นและวัสดุที่จะยกให้นายจ้างต่อสายตัวนํากับปั้นจั่นและวัสดุนั้นให้ประจุไฟฟ้าไหลลงดิน ตลอดเวลาที่มีการใช้ปั้นจั่นทํางานใกล้เสาส่งคลื่นโทรคมนาคม

ข้อ 22 ถ้ามีสารไวไฟอยู่ในบริเวณที่ใช้ปั้นจั่น ให้นายจ้างนําสารไวไฟออกจากบริเวณที่ใช้ปั้นจั่นก่อนปฏิบัติงาน

ข้อ 23 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่นที่ชํารุดเสียหายหรืออยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย

ข้อ 24 ถ้ามีการทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่นในเวลากลางคืน ให้นายจ้างจัดให้มีแสงสว่างทั่วบริเวณตลอดเวลาที่ลูกจ้างทํางาน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทํางานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม

ข้อ 25 ห้ามมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างดัดแปลงหรือแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งของปั้นจั่น หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทําการเช่นว่านั้น อันอาจทําให้ลูกจ้างที่ทํางานเกี่ยวกับปั้นจั่นมีความปลอดภัยน้อยลง


แก้ไข เปิดดู

บทความล่าสุด