สัญญาณมือเครนสากล

สัญญาณมือเครนสากล (International Crane Signal Code) คือ ชุดของท่าทางมือที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างผู้ควบคุมเครนและผู้ปฏิบัติงานบนพื้นดิน เพื่อสั่งการเคลื่อนไหวของเครนได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

สาระน่ารู้

ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 19 หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการก่อสร้างเฟื่องฟูอย่างมาก โดยมีการเริ่มนำเครนมาใช้เป็นตัวช่วยในการอำนวยความสะดวก ทว่า เนื่องจากความใหญ่โตและพละกำลังมหาศาล กลุ่มประเทศแถบยุโรปจึงต้องการให้มีมาตรการในการใช้อุปกรณ์ประเภทนี้ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงได้พัฒนาท่าทางมือที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างทหารและพลเรือนในยุคนั้นมาใช้เป็นสัญญาณมือเครน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกสัญญาณมือเครนยังไม่เป็นมาตรฐานสากล แต่ละประเทศมีสัญญาณมือของตนเองที่แตกต่างกันไป จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1934 สหพันธ์อุตสาหกรรมเครนนานาชาติ (International Association of Crane Manufacturers) ได้เผยแพร่มาตรฐานสัญญาณมือเครนสากลฉบับแรก ซึ่งได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก ก่อนที่จะได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ประโยชน์ของสัญญาณมือเครน

  • เพื่อความชัดเจนและเข้าใจตรงกันในการทำงาน สัญญาณมือเครนเป็นภาษาสากลที่เข้าใจได้ทั่วโลก ดังนั้น เมื่อทั้งผู้บังคับเครน ผู้ที่ส่งสัญญาณอยู่ที่ภาคพื้นดินได้รับการอบรมมาอย่างถูกต้อง ก็ย่อมช่วยให้สามารถสื่อสารกันได้อย่างชัดเจนและเข้าใจตรงกัน ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเข้าใจผิด จนนำไปสู่อุบัติเหตุ
  • ประหยัดเวลา สัญญาณมือเครนช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้บังคับเครนกับผู้ที่ส่งสัญญาณอยู่ที่ภาคพื้นดินเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องเสียเวลาพูดหรือส่งข้อความ จึงทำให้ลดเวลาในการทำงานได้มาก
  • เพิ่มความปลอดภัย สัญญาณมือเครนช่วยให้ผู้ควบคุมเครนสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของสิ่งของที่ยกอยู่ได้อย่างชัดเจน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการชน หรือกระแทกจนทำให้สิ่งของร่วงหล่นลงมา
  • สัญญาณมือรถเครน การใช้งานเครนในการก่อสร้าง

16 สัญญาณมือเครนสากล

  1. หยุดยกวัตถุ: คว่ำฝ่ามือและเหยียดแขนด้านซ้ายออกไปจนสุดแขน ในระดับไหล่ พร้อมเหวี่ยงไป-มา ในแนวระดับไหล่อย่างรวดเร็ว
  2. หยุดยกแบบฉุกเฉิน: คว่ำฝ่ามือลงและเหยียดแขนทั้งสองข้างจนสุดในระดับหัวไหล่ พร้อมเหวี่ยงไป-มาในแนวระดับไหล่อย่างรวดเร็ว
  3. ให้หยุดและยึดเชือกลวดทั้งหมด: กำมือทั้งสองเข้าหากันให้อยู่ในระดับเอว
  4. ใช้รอกเล็ก: งอข้อศอกข้างใดข้างหนึ่งขึ้นพร้อมทั้งกำมือให้อยู่ในระดับหัวไหล่ โย้ไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วใช้มืออีกข้างแตะที่ข้อศอกข้างที่งอ
  5. เลื่อนรอกขึ้น: งอข้อศอกข้างใดข้างหนึ่งตั้งฉาก ใช้ชี้นิ้วชี้ขึ้นแล้วจึงค่อย ๆ หมุนเป็นวงกลม
  6. เลื่อนรอกลง: กางแขนข้างใดข้างหนึ่งออกเล็กน้อย ใช้นิ้วชี้ชี้ลงพื้น แล้วค่อย ๆ หมุนเป็นวงกลม แล้วจึงกำมือทั้งสองข้างคว่ำลงแล้วยกขึ้น
  7. ใช้รอกใหญ่ : กำมือ ยกขึ้นเหนือศีรษะแล้วเคาะเบา ๆ บนศีรษะตนเองหลาย ๆ ครั้ง แล้วให้สัญญาณอื่น ๆ ที่ต้องการ
  8. ยกบูม: เหยียดแขนขวาออกสุดแขน แล้วกำมือ ให้นิ้วหัวแม่มือชี้ขึ้นด้านบน
  9. สวิงบูม ไปด้านที่มือชี้: เหยียดแขนซ้ายหรือขวา ชี้ไปตามทิศทางที่ต้องการจะให้หมุนบูมไป
  10. ยกบูมพร้อมเลื่อนรอกลง: เหยียดแขนข้างใดข้างหนึ่งออกสุด แบมือให้นิ้วโป้งชี้ลงแล้วกวักนิ้วทั้งสี่นิ้วที่เหลือไป-มา
  11. ยกบูมพร้อมเลื่อนรอกขึ้น: เหยียดแขนข้างใดข้างหนึ่งออกสุด แบมือให้นิ้วโป้งขึ้นฟ้าแล้วกวักนื้วทั้งสี่นิ้วที่เหลือไป-มา
  12. ยึดบูม: กำมือทั้งสองแบบหงาย ยกขึ้นเสมอเอว แล้วเหยียดนิ้วหัวแม่มือออกทั้งสองข้าง
  13. เดินหน้า: เหยียดฝ่ามือขวาตรงออกไปข้างหน้า ระดับไหล่ ฝ่ามือตั้งตรงทำท่าผลักในทิศทางที่ต้องการให้รถเครนเคลื่อนที่
  14. ยกวัตถุขึ้นอย่างช้า ๆ: ยกแขนข้างใดข้างหนึ่งขึ้น โดยคว่ำฝ่ามือไว้ในระดับซ้าย และใช้นิ้วชี้ของมืออีกข้างชี้ขึ้นตรงกลางฝ่ามือแล้วค่อยหมุนช้า ๆ
  15. นอนบูม: กำมือพร้อมเหยียดแขนขวาออกจนสุดแขน และใช้หัวแม่มือชี้ลงที่พื้น
  16. หดบูม: กำมือทั้งสองข้างคว่ำลง แล้วยกขึ้นเสมอเอว ให้นิ้วโป้งทั้งสองข้างชี้เข้าหาลำตัว
แก้ไข เปิดดู
บทความล่าสุด